Wednesday, April 29, 2009

จุฬาฯ ใช้คะแนนPATเดือนก.ค.และต.ค.

    (ED)จุฬาฯ ใช้คะแนนPATเดือนก.ค.และต.ค.

    ผศ.ดร.ม.ร.ว.กัลยา ติงศภัทย์ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ตามที่จุฬาฯ เปิดรับตรงปีการศึกษา 2553 ในคณะวิชาต่างๆ โดยกำหนดที่จะใช้คะแนนจากแบบทดสอบศักยภาพทั่วไป หรือ GAT และแบบทดสอบศักยภาพทางวิชาชีพ/วิชาการหรือ PAT โดยใช้คะแนนการสอบในเดือน ก.ค.นี้ ซึ่งเป็นการสอบครั้งที่ 2 นั้น ปรากฏว่าได้รับเสียงคัดค้านจากผู้ปกครองนักเรียนจำนวนมาก บางรายก็จะฟ้องร้องต่อศาลปกครอง เพราะเห็นว่าเป็นการตัดสิทธิเด็ก เพราะเด็กยังมีความรู้ด้านวิชาการไม่เพียงพอ ซึ่งจุฬาฯ ก็รับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่าย

    ดังนั้นในการสอบตรงปกติปีการศึกษา 2553 ของจุฬาฯ จะเปิดโอกาสให้นักเรียนนำคะแนนGAT และ PAT ที่สอบในเดือน ก.ค.หรือครั้งที่ 2 และ การสอบเดือน ต.ค.ซึ่งเป็นครั้งที่ 3 โดยนำคะแนนที่ดีที่สุดมาใช้ เพื่อเปิดโอกาสให้เด็กอย่างเต็มที่ โดยจุฬาฯ หารือที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย หรือ ทปอ. ซึ่งเข้ามารับผิดชอบในการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษาหรือ แอดมิชชั่นส์ แทนสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) แล้ว ทปอ.ยินดีที่จะเลื่อนเวลาในการส่งรายชื่อระบบรับตรงจากเดิมคือวันที่ 31 ม.ค.2553 เป็นวันที่ 15 มี.ค.2553 ดังนั้นสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติหรือ สทศ. ก็สามารถตรวจข้อสอบและประกาศผลGAT และ PAT ครั้งที่ 3 ได้ทัน ดังนั้นการรับตรงปกติของ จุฬาฯ ก็จะให้สิทธิเด็กนำคะแนนครั้งที่ 2หรือ 3 มาใช้ เป็นการเพิ่มโอกาสให้กับเด็ก

    “ส่วนการรับตรงแบบพิเศษ เช่น จุฬาฯชนบท การคัดเด็กที่มีความสามารถพิเศษด้านกีฬา ศิลปะ เป็นการคัดเลือกที่ต้องดำเนินการค่อนข้างเร็ว ก็จะใช้คะแนนGAT และ PAT ครั้งที่ 2 เท่านั้น หากเด็กไม่ผ่านการคัดเลือกระบบรับตรงแบบพิเศษ ก็ยังมีสิทธิมาสมัครรับตรงปกติ และใช้คะแนน GAT และ PAT ครั้งที่ 3 มาสมัครได้ด้วย ซึ่งจุฬาฯทำทุกอย่างเพื่อเพิ่มโอกาสให้กับเด็ก ไม่ได้เป็นการตัดสิทธิเด็กอย่างที่ผู้ปกครองบางกลุ่มเข้าใจ และหากสอบรับตรงไม่ได้ ก็ยังสามารถสมัครสอบแอดมิชชั่นส์กลางได้อีก” ผศ.ดร.ม.ร.ว.กัลยา กล่าว

    ทั้งนี้ ระบบรับตรงของจุฬาฯ เลียนแบบมาจากการรับแอดมิชชั่นส์ โดยเด็กสามารถทราบคะแนนของตนเองก่อนเลือกคณะ ไม่ได้อยู่ในความมืดโดยไม่รู้ว่าตนเองมีคะแนนเท่าใด ก่อนการเลือกคณะ และรู้สึกสบายใจที่ใช้ระบบนี้ ทั้งยังเปิดโอกาสให้เด็กได้หลายครั้งด้วย

ที่มา : http://breakingnews.nationchannel.com/read.php?newsid=376169&lang=T&cat=

Friday, April 10, 2009

สทศ.ประกาศวันสมัครสอบ GAT-PAT

สทศ.ประกาศวันสมัครสอบ GAT-PAT

ศ.ดร.อุทุมพร จามรมาน ผอ.สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) เปิดเผยว่า จากการที่ สทศ.จัดการสอบ GAT และ PAT ครั้งที่ 2 เดือน ก.ค. 2552 สทศ.เปิดโอกาสให้ผู้ที่สมัครสอบแล้วและจะสมัครใหม่ เลือกสนามสอบได้ด้วยตนเองในวันที่ 20 เม.ย.ถึงวันที่ 10 พ.ค.นี้ แบ่งผู้สมัครออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มแรก สมัครสอบแล้วและไม่ประสงค์จะสมัครเพิ่มวิชา ให้เลือกสนามสอบวันที่ 20 เม.ย.ถึง 12 พ.ค. กลุ่มที่ 2 เคยสมัครแล้วและต้องการเพิ่มวิชาสอบ สมัครได้วันที่ 20 เม.ย.ถึง 2 พ.ค. เลือกสนามสอบวันที่ 20 เม.ย.ถึง 12 พ.ค. โดยกลุ่มที่ 1 และ 2 จะแบ่งวันเลือกสนามสอบตามพื้นที่ ดังนี้ กรุงเทพฯ เลือกสนามสอบวันที่ 20-21 เม.ย. ภาคกลาง ได้แก่ จ.พระนครศรีอยุธยา, อ่างทอง, ลพบุรี, สิงห์บุรี, ชัยนาท, นครนายก, สระบุรี, นครสวรรค์, อุทัยธานี, กำแพงเพชร, สุโขทัย, พิษณุโลก, พิจิตร, เพชรบูรณ์, สุพรรณบุรี, นครปฐม, สมุทรสาคร, สมุทรสงคราม เลือก สนามสอบวันที่ 22-23 เม.ย. ภาคตะวันออกและภาคตะวันตก ได้แก่ จ.ชลบุรี, ระยอง, จันทบุรี, ตราด, ฉะเชิงเทรา, ปราจีนบุรี, สระแก้ว, ตาก, ราชบุรี, กาญจนบุรี, เพชรบุรี, ประจวบคีรีขันธ์ เลือกสนามสอบวันที่ 24-25 เม.ย. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เลือกสนามสอบวันที่ 26-27 เม.ย. ภาคใต้ เลือกสนามสอบวันที่ 28-29 เม.ย. ภาคเหนือ เลือกสนามสอบ วันที่ 30 เม.ย.-1 พ.ค. หากผู้สมัครกลุ่มที่ 1 และ 2 เลือกสนามสอบไม่ทันตามที่กำหนด สามารถเข้าเว็บไซต์ สทศ. เพื่อเลือกสนามสอบได้อีกครั้งในวันที่ 3-12 พ.ค.

ส่วนกลุ่มที่ 3 เป็นนักเรียน ม.5 ขึ้นไปที่ยังไม่เคยสมัครสอบและประสงค์จะสมัครสอบ รับสมัครตั้งแต่วันที่ 3-10 พ.ค. เลือกสนามสอบ วันที่ 3-12 พ.ค.นี้

“สทศ. เปิดโอกาสให้นักเรียนเลือกสนามสอบได้เอง เพื่ออำนวยความสะดวกให้นักเรียนได้สอบในสนามสอบที่ต้องการ โดย สทศ.เตรียมที่นั่งสอบและสนามสอบไว้เพียงพอผู้เข้าสอบ หากเลยกำหนดการเลือกสนามสอบ สทศ.จะเป็นผู้จัดสนามสอบให้ ดังนั้นขอให้ผู้สมัครสอบ GAT และ PAT ครั้งที่ 2 เข้าเว็บไซต์ สทศ. www.niets.or.th เลือกสนามสอบตามกำหนด ส่วนการสอบครั้งที่ 3 จะเลือกอีกครั้ง” ศ.ดร.อุทุมพรกล่าว.



ที่มา - ไทยรัฐ ปีที่ 60 ฉบับที่ 18706 วันพฤหัสบดี ที่ 9 เมษายน 2552

คัดลอกจาก....

http://www.kruthai.info/board03/show.php?Category=news&No=753

Tuesday, April 7, 2009

กวดวิชา...อาจไม่ใช่คำตอบ

กวดวิชา...อาจไม่ใช่คำตอบ

รายงานโดย :รศ.ดร.ศิริยุพา รุ่งเริงสุข สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย:

ขณะนี้อยู่ในช่วงปิดภาคเรียนฤดูร้อน เป็นช่วงเวลาที่เราจะเห็นเยาวชนในวัยต่างๆ ตั้งแต่อายุต่ำกว่า 10 ขวบ จนถึงอายุประมาณ 18-19 ปี

ที่เดินขวักไขว่ตามโรงเรียนกวดวิชา และโรงเรียนสอนพิเศษต่างๆ เช่น โรงเรียนสอนภาษา โรงเรียนดนตรี โรงเรียนศิลปะ ฯลฯ

หลาย ต่อหลายปีที่ผู้เขียนมีโอกาสสังเกตพฤติกรรมของเด็กๆ ที่มาเรียนกวดวิชา แล้วได้เห็นภาพที่ส่งสัญญาณอันตรายต่ออนาคตของพวกเขาหลายครั้ง คิดขยับจะเขียนเรื่องนี้อยู่หลายหน แต่ก็มีเหตุการณ์อื่นมาแทรกบ้าง และบางทีก็กังวลอยู่เหมือนกันว่า หากเขียนบทความนี้ด้วยความไม่ระมัดระวัง ก็อาจจะทำให้เจ้าของโรงเรียนกวดวิชาเข้าใจผิด คิดว่าผู้เขียนตั้งใจทำให้ภาพลักษณ์ของโรงเรียนกวดวิชามัวหมอง อันมีผลกระทบต่อธุรกิจของท่านเหล่านั้นได้

อย่างไรก็ตาม ก่อนสงกรานต์ปีนี้ก็ขอเขียนเรื่องของเยาวชนและการตัดสินใจของเยาวชนร่วมกับ ผู้ปกครองในการใช้เวลาว่างของวันหยุดสุดสัปดาห์และวันปิดภาคเรียนในการเรียน กวดวิชา หรือเรียนวิชาต่างๆ นอกหลักสูตรปกติที่มีสอนในโรงเรียนทั่วไปว่า มีประเด็นที่ต้องใคร่ครวญอะไรบ้าง จึงจะได้ประโยชน์สูงสุดจากการกวดวิชา หรือจากการศึกษาหลักสูตรพิเศษต่างๆ นอกโรงเรียน ทั้งนี้จุดมุ่งหมายหลักของผู้เขียนก็คือ เรื่องคุณภาพชีวิตของเยาวชนซึ่งจะเติบใหญ่เป็นกำลังของชาตินั่นเอง

ทำไมจึงต้องกวดวิชา?

สมัย 30 กว่าปีก่อนที่ผู้เขียนอยู่ในวัยศึกษา จำได้ดีว่าสมัยนั้นไม่ค่อยมีโรงเรียนกวดวิชามากนัก จะมีก็แต่การกวดวิชาเพื่อเตรียมสอบเข้าโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา และเตรียมสอบเอนทรานซ์เข้ามหาวิทยาลัยเท่านั้น พอวันปิดภาคเรียนพวกนักเรียนทั้งหลายก็ใช้เวลาอยู่บ้านกับผู้ปกครอง ใช้เวลาช่วยงานบ้านบ้าง แล้วก็ไปพักผ่อนตามต่างจังหวัดกับครอบครัว ตัวผู้เขียนเองและเพื่อนๆ หลายคนที่เรียนหนังสือมาด้วยกันไม่เคยต้องเรียนพิเศษเลย จะมีบ้างก็ไม่เกิน 10 คนที่สอบตก หรือไม่ก็เรียนอ่อนมากประมาณว่าเกือบๆ จะสอบตก ที่จำเป็นต้องเรียนพิเศษในช่วงปิดภาคเรียนเพื่อกวดวิชาให้เรียนทันเพื่อนฝูง

ส่วนการเรียนพิเศษอื่นๆ เช่น เรียนเปียโน ศิลปะ หรือกีฬาต่างๆ ก็มีเหมือนกัน แต่ก็ไม่ได้ใช้เวลามากนักในแต่ละสัปดาห์ เด็กๆ จึงมีเวลาอยู่บ้านกับผู้ปกครองและพี่น้องคนอื่นๆ มีโอกาสวิ่งเล่นตามแบบเด็กๆ มากพอสมควร

แต่ในปัจจุบันนี้ผู้เขียนเห็นว่ากว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของเด็กๆ ที่เรียนหนังสือตามโรงเรียนต่างๆ ต้องใช้เวลาหลังเลิกเรียนในชั้นเรียนปกติ และเวลาในวันหยุดสุดสัปดาห์เรียนวิชาต่างๆ ที่โรงเรียนเองเป็นผู้จัดเตรียมไว้ หรือที่ผู้ปกครองพาเด็กไปเรียนเพิ่มเติมเองอีกมากมาย เช่น เรียนภาษาอังกฤษ ญี่ปุ่น ร้องเพลง เต้นบัลเลต์ เรียนการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ต่างๆ เรียนฝึกพูด ฯลฯ เด็กบางคนต้องเรียนทุกวันเลยค่ะ! และพอสอบถามดูปรากฏว่า เด็กหลายคนเป็นเด็กที่ไม่ได้เรียนย่ำแย่ หรือได้เกรดต่ำแต่ประการใด ทั้งนี้ผู้เขียนได้รวบรวมเหตุผลต่างๆ ที่ทำให้เด็กไปโรงเรียนกวดวิชา และโรงเรียนพิเศษ ดังนี้

1.เรียนอ่อนไม่ทันเพื่อนจริงๆ

2.กลัวแข่งขันกับเพื่อนคนอื่นๆ ที่เรียนพิเศษไม่ได้ ต้องสร้างความมั่นใจ

3.เก่งอยู่แล้ว...แต่อยากเก่งที่ซู้ด

4.สนใจอยากเรียนวิชาต่างๆ เหล่านั้นเพิ่มเติมเอง

5.ผู้ปกครองไม่มีเวลาอบรมดูแล จึงส่งมาไว้ที่โรงเรียนกวดวิชา และโรงเรียนพิเศษต่างๆ โดยหวังว่าเด็กจะใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ และมีครูที่โรงเรียนคอยดูแล

6.เด็กอยู่บ้านเฉยๆ เลยเบื่อ สู้ไปโรงเรียนกวดวิชา และโรงเรียนพิเศษไม่ได้ จะได้เจอเพื่อนฝูง

จะเห็นได้ว่าจากเหตุผลทั้ง 6 ประการดังกล่าวนี้ เป็นเหตุผลที่จำเป็นจริงๆ อยู่เพียง 3 เหตุผลเท่านั้น คือ เรียนไม่ทัน อยากส่งเสริมทักษะความรู้เพิ่มเติมในเรื่องที่เด็กสนใจเป็นพิเศษ และอยากเก่งที่สุดในสาขาที่เก่งอยู่แล้ว นอกนั้นเป็นเหตุผลทางจิตวิทยาและเหตุผลทางสังคมเสียมากกว่า ทำให้ผู้ปกครองหลายคนต้องขวนขวายหาสตางค์มาส่งเสียให้ลูกเรียนทั้งๆ ที่ไม่จำเป็น เด็กบางคนพอลงจากรถก็ไม่ได้เดินเข้าโรงเรียนกวดวิชาหรอกนะคะ แต่ไปเดินเที่ยวเตร็ดเตร่ กินขนม ดูหนัง เห็นแล้วเสียดายสตางค์แทน แต่แค่เที่ยวเตร่ไม่เรียนก็ยังพอทน บางรายที่เป็นวัยรุ่นก็คบเพื่อนต่างเพศเดินโอบกอดกัน หรือแอบสูบบุหรี่ในซอยที่ลับตาคน แบบนี้แหละที่เห็นแล้วกลุ้มใจแทนผู้ปกครอง เสียทั้งเงินและอาจจะต้องเสียอนาคตของลูกหลานด้วย

การแก้ปัญหาเรื่องการศึกษา และการใช้เวลาว่างของเยาวชนในบ้านเราจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือกันระหว่าง ผู้ปกครองและสถาบันการศึกษา คำว่าสถาบันการศึกษาไม่ได้หมายความถึงเฉพาะโรงเรียนที่เด็กสังกัดอยู่เท่า นั้น แต่หมายถึงสถาบันการศึกษาทุกแห่งที่มีส่วนรับผิดชอบในการสร้างเยาวชนของชาติ ให้มีความรู้ ทักษะ ทัศนคติ ค่านิยม และพลานามัยที่สมบูรณ์ทั้งร่างกายและจิตใจ เพื่อที่จะเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพชีวิตที่ดี และทำตัวเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติได้

ทุกวันนี้สังคมบ้านเรามุ่งเน้นการแข่งขันชิงเด่นเป็นที่ 1 มากเกินไป ทำให้โรงเรียน ผู้ปกครอง และเด็ก มีค่านิยมที่ต้องแข่งขันมากเกินความพอดี กล่าวคือ เกิดความเครียด ความกลัวว่าตัวเองจะเก่งไม่พอ จะสู้ไม่ได้ จนต้องเรียนอะไรต่อมิอะไรอยู่ตลอดเวลาจนขาดสมดุลของชีวิต ชีวิตเด็กที่มีคุณภาพคือ มีชั่วโมงเรียน ชั่วโมงเล่น ชั่วโมงพักผ่อน ชั่วโมงอยู่กับครอบครัว ชั่วโมงเรียนรู้โลกเพื่อเข้าสังคมและรู้จักโลกในมุมกว้าง และชั่วโมงเรียนรู้ศีลธรรมจรรยาบรรณ

ทั้งหมดนี้ผู้ปกครองและสถาบันการศึกษาต้องปรึกษาหารือกันเพื่อหา วิธีสร้างสมดุลชีวิตให้เด็ก ไม่ใช่มุ่งแต่เรียน เรียน และเรียนในโรงเรียน พอออกจากโรงเรียนก็เดินเข้าโรงเรียนกวดวิชา หรือโรงเรียนพิเศษ ในขณะที่โรงเรียนต้องมีความรับผิดชอบ ผู้ปกครองเองก็ต้องมีความรับผิดชอบเช่นกันในการดูแลลูกหลานของตนเอง ไม่ใช่เห็นโรงเรียนกวดวิชา หรือโรงเรียนพิเศษเป็นสถานรับเลี้ยงและดูแลเด็กแทนตัวเอง นอกจากนี้หน่วยงานต่างๆ ของรัฐบาลก็น่าจะยื่นมือเข้ามาจัดกิจกรรมช่วงปิดภาคเรียน เพื่อให้ความรู้และการสนับสนุนต่อผู้ปกครองและเด็กๆ ให้มีการใช้เวลาว่างของเด็กให้เป็นประโยชน์ และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับผู้ปกครองและเด็กพร้อมกันไป โดยไม่ต้องให้ผู้ปกครองควักสตางค์กันจนกระเป๋าแห้งทุกปิดเทอมแบบนี้ มาช่วยกันทำให้ลูกหลานของท่านมีชีวิตวัยเด็กที่มีคุณภาพกันเถิดนะคะ

Monday, March 16, 2009

http://montfort50.blogspot.com/

ข่าวสารผู้ปกครอง นักเรียน ม. 4 2551 จะย้ายไปที่ http://montfort50.blogspot.com/

ทราบได้อย่างไรว่าเราเป็นศิษย์เก่ามงฟอร์ตรุ่นอะไร ?

ทราบได้อย่างไรว่าเราเป็นศิษย์เก่ามงฟอร์ตรุ่นอะไร ?

นักเรียนจากโรงเรียนต่างๆแทบจะทุกโรงเรียนเมื่อจะจบการศึกษาจากโรงเรียนไม่ว่าจะจบชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น หรือชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย มักจะตั้งชื่อรุ่นของตนเอง เพื่อเป็นการสื่อให้เข้าเพื่อนๆ รู้ว่า นั่นคือรุ่นของตน เช่น ตั้งชื่อว่า “วชรสมโภช” ใช้เรียกศิษย์เก่าที่จบการศึกษาจาก ม.3 ในปีการศึกษา 2550 หากสื่อไปยังมวลสมาชิกศิษย์เก่ามงฟอร์ต หรือเพื่อให้สังคมได้รับทราบว่า เป็นศิษย์เก่ารุ่นอะไร มีอะไรเป็นบรรทัดฐาน ส่วนใหญ่จะไม่ทราบ หรือสับสนได้ หรือ “ศิษย์เก่า MC 50 ” จะหมายถึงจบการศึกษาจากชั้น ม. 3 ในปีการศึกษา 2550 และจบการศึกษาจากชั้น ม.6 ในปีการศึกษา 2553

ในสมัยการประชุมของอดีตนายกสมาคมศิษย์เก่ามงฟอร์ตวิทยาลัย ธัญ การวัฒนานนท์ นายกสมาคมฯคนที่ 7 พ.ศ. 2529-2532 ได้มีการยกปัญหานี้มาปรึกษาหารือในที่ประชุมคณะกรรมการ และ มีข้อสรุปออกมาอย่างเป็นทางการจนเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไป และดำเนินการใช้หลังจากที่มีมติในครั้งนั้น ว่า ให้ใช้เกณฑ์การศึกษาในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 เป็นชื่อรุ่น ถึงแม้ว่าจะมีนักเรียนมาเข้าศึกษาในชั้น มัธยมศึกษาปีที่ 4 และจบการศึกษาในชั้น มัธยมศึกษาปีที่ 5 (ม.ศ.5) หรือมัธยมศึกษาปีที่ 6 (ม.6) ผู้ที่จบการศึกษาเหล่านี้ก็ถือได้ว่าเป็นศิษย์เก่าในรุ่นที่จบการศึกษาในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ทั้งนี้ทั้งนั้นไม่ปิดกั้นที่แต่ละรุ่นจะมีชื่อเรียกภายในรุ่นของตนเองแต่อย่างใด

ระดับชั้น เข้าเรียนปี จบการศึกษา เป็นศิษย์เก่ารุ่น
ป.1 2542 ม.3 ปีการศึกษา 2550 2550
ม.4 2551 ม.6 ปีการศึกษา 2553 2550

ข้อมูลจาก....สมาคมศิษย์เก่ามงฟอร์ตวิทยาลัย http://www.montfort.ac.th/alumni

Wednesday, March 4, 2009

สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน)สทศ

ท่านผู้ปกครองสามารถดูรายละเอียดต่างๆเกี่ยวกับ แอดมิตชั่น GAT PAT ได้จากลิงค์ข้างต้น ครับ

“ชัยวุฒิ” จี้ สทศ.เร่งโฆษณา GAT, PAT ประกาศไฟเขียวมหา'ลัยรับตรง

“ชัยวุฒิ” จี้ สทศ.เร่งเครื่องประชาสัมพันธ์ GAT, PAT ให้แพร่หลาย เผย ไม่คัดค้านมหาวิทยาลัยรับตรงมากขึ้น ระบุเข้าใจดีว่าแต่ละสถาบันอยากได้นิสิตนักศึกษาที่ตรงกับความต้องการ

นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวภายหลังร่วมประชุมบอร์ดสถาบันทดสอบทางการศึกษา (สทศ.) ว่า สทศ.รับภาระหน้าที่ในการสอบ GAT, PAT ซึ่งจะเริ่มใช้ในปี 2553 โดยจะเริ่มสอบครั้งแรกวันที่ 7-8 มีนาคมนี้ แต่มีหลายคนยังไม่ค่อยรู้ เพราะฉะนั้น สทศ.ต้องเร่งประชาสัมพันธ์ให้ทราบอย่างแพร่หลาย โดยประสานขอความร่วมมือจาก สพฐ. ผอ.เขต สพท.ซึ่งเหตุผลที่ก่อนหน้าที่ สทศ.ไม่กล้าประชาสัมพันธ์เพราะเกรงว่าจะทำให้เด็กเกิดความสับสนกับ A-NET ซึ่งใช้เป็นปีสุดท้าย

ทั้งนี้ ให้เด็ก ม.5 และ ม.6 สมัครสอบ GAT, PAT ได้ 3 ครั้ง โดยเลือกคะแนนครั้งที่ดีที่สุดมาเป็นส่วนประกอบในการสอบเข้ามหาวิทยาลัย อย่างไรก็ดี มีนักวิชาการบางท่านได้ตั้งข้อสังเกตว่า ข้อสอบแต่ละครั้งจะมีความยากง่ายต่างกัน ขอยืนยันว่า การออกข้อสอบทุกครั้งมาตรฐานเดียวกัน เพราะว่า สทศ.จะมีคลังข้อสอบ โดยคณะกรรมการจะออกข้อสอบ ง่าย ปานกลาง ยาก แล้วเวลาเลือกข้อสอบจะเลือกคละกัน อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เป็นกังวลอยากเตือนนักเรียน ว่า การสอบ GAT, PAT ไม่จำเป็นต้องสอบครบทั้ง 3 ครั้ง และทุกวิชา นักเรียนเลือกวิชาที่คิดว่าพร้อม จะได้ไม่เสียเงินไปติว

ส่วนเรื่องมหาวิทยาลัยแห่งไหน ต้องการเปิดรับตรงเพื่อคัดเลือกเด็กให้ตรงกับสาขา หรือคณะ ขอให้นำคะแนนการสอบ GPAX, GAT, PAT และอื่นๆ มาใช้เป็นองค์ประกอบในการคัดเลือก แต่อาจให้มหาวิทยาลัยปรับสัดส่วนคะแนน GPAX, GAT, PAT ซึ่งไม่จำเป็นต้องคะแนนเท่ากัน เพื่อให้มหาวิทยาลัยได้เด็กตามคุณสมบัติที่จะเรียนในคณะ สาขา แต่คงไม่ให้มหาวิทยาลัยจัดดำเนินการสอบคัดเลือกเอง โดยยกเว้นหลักสูตรพิเศษ เช่น INTER ที่ให้มหาวิทยาลัยเป็นผู้คัดเลือกเอง

“ยอมรับว่า ปัญหาการสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยนั้น มีปัญหามาอย่างต่อเนื่อง ต้องปรับปรุงให้ระบบการคัดเลือกเด็กได้ตรงสาขามากที่สุด อาจจะใช้วิธีดูผลสอบ GAT, PAT และอื่นๆ โดยมหาวิทยาลัยบางแห่งอาจให้น้ำหนัก ฟิสิกส์ เคมี ชีวะ คณิต สูงกว่าแห่งอื่น คือไม่จำเป็นต้องใช้คะแนนเท่ากัน”

นายชัยวุฒิ กล่าวอีกว่า จะผลักดันให้ สทศ.มีบทบาทระดับชาติ บริษัทเอกชน หน่วยงานรัฐบาล ยอมรับโดยใช้ผลสอบเป็นส่วนหนึ่งในการคัดเลือกเข้าทำงาน ซึ่งขณะนี้มีโรงเรียนกว่า 200 แห่ง จะนำผลสอบ O-NET ป.6 มาประกอบการคัดเลือกเด็ก ม.1

จุฬาฯ แจงยิบเหตุมุ่งรับตรง เมิน “แอดมิชชัน” ชี้ชัดไม่พอใจเกณฑ์ แถมลดค่า GPAX เหลือแค่ 10 เปอร์เซ็นต์

จุฬาฯ แจงยิบเหตุมุ่งรับตรง เมิน “แอดมิชชัน” เผยปี 2553 เปิดรับตรงเพิ่มขึ้น จากเดิมเคยรับตรง 30% ปรับเพิ่มเป็น 60% อักษรศาสตร์ ระบุ เหตุรับตรง 100% เพราะองค์ประกอบ PAT7 แค่ 10% ที่ ทปอ.กำหนดไม่สามารถคัดเด็กได้ตรงตามต้องการ ขณะที่วิศวกรรมศาสตร์ รับตรง 80% จากเดิมรับตรงแค่ 8% ส่วนคณะวิทยาศาสตร์ รับตรงเป็น 53% จากเดิมเพียง 31% แถมลดการใช้ GPAX ที่ ทปอ.กำหนดไว้ 20% เหลือแค่ 10%

วันนี้ (4 มี.ค.) ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) แถลงข่าวการคัดเลือกนิสิตเข้าศึกษาในระดับปริญญาตรี ปีการศึกษา 2553 ของจุฬาฯ ว่า ในปีการศึกษา 2553 จุฬาฯ จะยึดหลักการรับนิสิตโดยให้นักเรียนและผู้ปกครองเดือดร้อนน้อยที่สุด มีภาระน้อยที่สุด และเปิดโอกาสให้นักเรียนให้มากที่สุด โดยได้วางแผนรับนิสิตไว้ 6,003 คน แยกเป็นระบบกลางการรับนิสิตนักศึกษา หรือแอดมิชชันกลาง 2,420 คน คิดเป็น 40% และรับตรง 60% จำแนกเป็น รับตรงปกติ 2,479 คน คิดเป็น 41% รับตรงพิเศษ (โครงการจุฬาฯ ชนบท, โครงการกีฬาดีเด่น, โครงการศิลปะดีเด่น โครงการผู้มีความสามารถพิเศษฯ โครงการสถาปัตยกรรมไทย) 1,104 คน คิดเป็น 19%

ทั้งนี้ จำนวนดังกล่าวยังไม่รวมนิสิตนานาชาติ 890 คน และเมื่อเทียบกับจำนวนรับนิสิตของปีการศึกษา 2552 พบว่าสัดส่วนการรับตรงเพิ่มขึ้น 30% โดยจากเดิมอยู่ที่แอดมิชชันกลาง 70% และรับตรง 30%

นพ.ภิรมย์ กล่าวต่อไปว่า จุฬาฯ ขอยืนยันว่าเห็นด้วยกับระบบแอดมิชชันกลาง เพราะเอื้อต่อนักเรียนและหน่วยรับ แต่จุฬาฯ จำเป็นต้องรับตรงในรูปแบบต่างๆ ด้วย เพื่อให้ตรงกับปรัชญาและโครงการของคณะต่างๆ ซึ่งในปีการศึกษา 2553 ทปอ.ได้ปรับการทดสอบมาเป็นการวัดความถนัดทั่วไปหรือ GAT และการวัดความถนัดทางวิชาการและวิชาชีพ หรือ PAT โดยกำหนดสัดส่วนและค่าน้ำหนักของแต่ละวิชาเพื่อให้ใช้ร่วมกันในทุกสถาบัน

“สัดส่วนและน้ำหนักดังกล่าวพบว่าไม่เหมาะสมกับเกณฑ์การรับนิสิตของบางคณะ ดังนั้น จุฬาฯ จึงต้องรับตรงเพิ่มขึ้นในสาขาเหล่านั้น เช่น คณะอักษรศาสตร์ ปีการศึกษา 2553 จุฬาฯ จะรับตรงทั้งหมด 100% จากเดิมรับในระบบแอดมิชชัน 100% คณะวิศวกรรมศาสตร์ รับตรง 80% จากเดิมรับตรงแค่ 8% คณะวิทยาศาสตร์ รับตรง 53% จากเดิมเพียง 31% เป็นต้น โดยในการรับตรงทุกคณะ จะรับสมัคร 2 รอบ รอบแรกสำหรับโครงการผู้มีความสามารถพิเศษซึ่งจะประกาศผลต้นเดือนพฤศจิกายน หากรอบแรกไม่ผ่าน ก็สามารถสมัครรอบ 2 สำหรับโครงการรับตรงทั่วไป ซึ่งจะรับสมัครกลางเดือนพฤศจิกายน โดยรอบที่ 2 นักเรียนมีโอกาสเลือกได้ถึง 4 อันดับ ซึ่งถือเป็นการดำเนินการครั้งแรกในปีการศึกษา 2553 และหากนักเรียนไม่ผ่านการคัดเลือกแบบรับตรง ก็สามารถไปสมัครแอดมิชชันได้อีก”นพ.ภิรมย์ กล่าว

อธิการบดี จุฬาฯ กล่าวต่อไปว่า การรับตรงทุกคณะยังคงใช้องค์ประกอบหลัก 3 ส่วนที่ ทปอ.กำหนด คือ คะแนนเฉลี่ยสะสมตลอดหลักสูตรม.ปลาย หรือ GPAX รวมถึง GAT และ PAT ที่สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) จัดทดสอบ แต่จะปรับค่าน้ำหนักให้เหมาะสม เช่น คณะอักษรศาสตร์ ที่ ทปอ.กำหนดค่าน้ำหนัก PAT 7 ความถนัดในการเรียนภาษาต่างประเทศ เพียง 10% จุฬาฯ จะเพิ่มค่าน้ำหนักในส่วนนี้เป็น 30% เพื่อให้มั่นใจได้ว่าเมื่อเด็กเข้ามาเรียนแล้วสามารถเรียนได้ เป็นต้น

ทั้งนี้ คะแนน GAT และ PAT ที่นำมาใช้ จะต้องเป็นผลคะแนนของการสอบครั้งที่ 2 ในวันที่ 4-12 กรกฎาคมเท่านั้น เพื่อสร้างความยุติธรรมให้แก่เด็ก เพราะถือว่าได้รับทราบข้อมูลพร้อมกัน ใช้ข้อสอบชุดเดียวกันและเข้าสู่สนามสอบในเวลาเดียวกัน

นอกจากนี้ จุฬาฯ จะจัดสอบความรู้เพิ่มเติมในส่วนที่ สทศ.ไม่ได้จัดสอบให้ อาทิ ความถนัดทางวิทยาศาสตร์ ทักษะดนตรีสากล เป็นต้น โดยจะจัดสอบตั้งแต่เดือนมิถุนายน-กรกฎาคม 2552 เพื่อนักเรียนจะได้รู้คะแนนของตนเองในทุกวิชาก่อนมายื่นรับตรง

นพ.ภิรมย์ กล่าวอีกว่า ส่วน GPAX จะให้ค่าน้ำหนักในการรับตรง 10% จากที่ ทปอ.กำหนด 20% โดยจะใช้ GPAX ใน 5 ภาคเรียนเท่านั้น สาเหตุที่ให้ค่าน้ำหนัก GPAX แค่ 10% เพราะได้มีการวิจัยออกมาแล้วว่าการให้ค่าน้ำหนัก GPAX เพียง 10% เหมาะสมแล้ว หากให้ค่าน้ำหนักสูงอาจไม่ยุติธรรมแก่เด็ก เพราะคุณภาพการตัดเกรดและมาตรฐานของโรงเรียนต่างกัน แต่หากไม่นำมาใช้เลยก็ทำให้เด็กทิ้งห้องเรียนได้ ซึ่งเราอยากจะดึงเด็กให้อยู่ในห้องเรียนนานที่สุดจึงกำหนดให้ใช้ GPAX ใน 5 ภาคเรียน หรือจนถึง ม.6 เทอมแรก

อธิการบดีจุฬาฯ กล่าวด้วยว่า ยอมรับว่า คณะต่างๆ ยังไม่ค่อยพึงพอใจกับสัดส่วนองค์ประกอบแอดมิชชันที่ ทปอ.กำหนด แต่หากในอนาคต ทปอ.มีการปรับค่าน้ำหนักใหม่ให้เหมาะสมกับหลักเกณฑ์ของแต่ละคณะ ก็เชื่อว่า ทุกคณะจะหันมารับนิสิตผ่านระบบแอดมิชชันเพราะไม่มีใครอยากจัดรับตรงเอง เนื่องจากต้องดำเนินการหลายขั้นตอนและยุ่งยาก ซึ่งการปรับค่าน้ำหนักไม่จำเป็นต้องรอประกาศล่วงหน้าถึง 3 ปี เพราะหากทำแบบนั้นชีวิตรันทดแน่ ซึ่งเรื่องนี้จะมีการหยิบยกมาหารือในการประชุมคณะทำงานศึกษาแอดมิชชันฟอรั่ม ปีการศึกษา 2553 ในวันที่ 13 มีนาคมนี้

ด้าน ผศ.ดร.ม.ร.ว.กัลยา ติงศภัทิย์ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการด้านการศึกษา จุฬาฯ กล่าวว่า เหตุผลที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ใช้วิธีคัดเลือกผ่านระบบการรับตรงทั้งหมด 100% จำนวน 295 คนในปีการศึกษา 2553 นั้น เนื่องจากค่าน้ำหนัก PAT 7 ความถนัดในการเรียนภาษาต่างประเทศ เพียง 10% ที่ ทปอ.กำหนด ไม่เพียงพอที่จะใช้วัดความสามารถทางด้านอักษร และเป็นไปไม่ได้ที่จะคัดเลือกบุคคลให้ได้ตามคุณลักษณะที่คณะต้องการ เนื่องจากคณะอักษรศาสตร์เป็นคณะที่สอนภาษาขั้นสูง หากใช้สัดส่วนตามที่ ทปอ.กำหนดจะไม่สามารถผลิตบัณฑิตอักษรศาสตร์ได้สำเร็จ

ผศ.ดร.ม.ร.ว.กัลยา กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ได้หารือไปยัง ทปอ. เพื่อขอปรับสัดส่วน PAT 7 เป็น 30% ในการคัดเลือกแอดมิชชันแล้ว แต่ได้รับคำชี้แจงว่า เกณฑ์แอดมิชชันปีการศึกษา 2553 ได้กำหนดล่วงหน้าไปแล้ว ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ซึ่งหากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ เห็นว่าเป็นปัญหากับการคัดเลือกนิสิต และจะทำให้นิสิตเรียนอยู่ในระบบไม่ได้ ก็ขอให้ดำเนินการในระบบรับตรง ซึ่งขอยืนยันว่า จุฬาฯ ต้องการใช้ระบบแอดมิชชัน เพียงแต่เห็นว่าองค์ประกอบในการคัดเลือกบางอย่างควรมีการปรับเปลี่ยน เพื่อให้ได้นิสิตตามที่คณะต้องการ

“สำหรับแอดมิชชันปีการศึกษา 2554 หาก ทปอ.มีการปรับสัดส่วนเพิ่ม PAT 7 เป็น 30% ตามที่อักษรศาสตร์ จุฬาฯ ร้องขอ จุฬาฯ ก็พร้อมจะกลับไปใช้ระบบแอดมิชชันในการคัดเลือกนิสิตเหมือนเดิม ซึ่งการกำหนดองค์ประกอบการคัดเลือกที่ไม่สอดคล้องกับคุณสมบัติของผู้เรียนอย่างแท้จริง เมื่อเด็กเข้ามาสู่ระบบแล้วเรียนไม่ไหวจะเป็นการทำร้ายนิสิตที่รุนแรง นอกจากนี้การสอนอักษรศาสตร์ในสถาบันอุดมศึกษามีความหลากหลาย และมีจุดเน้นที่แตกต่างกัน ถึงแม้จะเป็นศาสตร์ด้านเดียวกัน แต่ก็ไม่ควรจะกำหนดน้ำหนักหรือสัดส่วนองค์ประกอบในการคัดเลือกผู้เรียนเหมือนกัน จุฬาฯ ก็มีปณิธานของตัวเองว่าต้องการผลิตบัณฑิตที่มีความเป็นเลิศทางวิชาการ ขณะที่สถาบันอุดมศึกษาอื่นๆ อาจเห็นว่าการใช้ PAT 7 เพียง 10% ก็เพียงพอแล้วก็เป็นได้ ดังนั้นคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ก็จะเสนอประเด็นนี้ต่อ ทปอ.ด้วย” ผศ.ดร.ม.ร.ว.กัลยา กล่าว

รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ จุฬาฯ กล่าวอีกว่า สำหรับการรับตรงของจุฬาฯ ที่พิจารณาจาก GPAX 10% นั้น เนื่องจากมีผลการวิจัยรองรับว่า ค่าน้ำหนักของ GPAX ที่ใช้คัดเลือกบุคคลเข้ามหาวิทยาลัยไม่ควรเกิน 10% เพราะค่าน้ำหนักที่ 10% จะสะท้อนผลการเรียนของนิสิตในมหาวิทยาลัยได้ดีที่สุด ส่วนที่ไม่ได้นำคะแนน O-NET มาพิจารณาในการรับตรงของจุฬาฯ เนื่องจาก ทปอ.กำหนดให้มหาวิทยาลัยต่างๆ ส่งรายชื่อนักเรียนที่ผ่านการคัดเลือกรับตรงภายในวันที่ 31 มกราคม 2553 ขณะที่ O-NET จะมีการประกาศผลสอบหลังจากนั้น จึงไม่สามารถนำ O-NET มาพิจารณาได้ทัน อย่างไรก็ตาม จุฬาฯ มีความเป็นห่วงความรู้วิชาพื้นฐานของนิสิตเช่นกัน จึงได้จัดทดสอบประเมินความรู้พื้นฐานวิชาภาษาอังกฤษ หรือ CU-TEP ความรู้วิชาภาษาไทยโดยใช้ข้อสอบของศูนย์ภาษาไทยสิรินธร และความรู้วิชาวิทยาศาสตร์ หรือ CU-SCIENCE เพื่อวัดพื้นฐานวิชาเหล่านี้กับนิสิตชั้นปีที่ 1 ทุกครั้ง

ศ.ดร.เกื้อ วงศ์บุญสิน รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการด้านการวิจัย กล่าวว่า ปัญหาเรื่องนิสิต นักศึกษาที่เรียนในคณะ/สาขาที่ต้องใช้พื้นฐานวิชาวิทยาศาสตร์ เช่น คณะวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ ฯลฯ มีผลการเรียนต่ำลง และติด F จำนวนมากนั้น นอกจากความบกพร่องของการกำหนดสัดส่วนองค์ประกอบในการคัดเลือกที่ให้สอบวิชาในกลุ่มสาระวิทยาศาสตร์ ประกอบด้วย วิชาฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา และ อวกาศและดาราศาสตร์ จำนวน 100 คะแนน ส่งผลให้เด็กที่จะเข้ามหาวิทยาลัยได้นั้นไม่จำเป็นต้องเก่งวิชาวิทยาศาสตร์ ขณะเดียวกันก็มีผลมาจากหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานของกระทรวงศึกษาธิการที่แยกออกมาเป็น 8 กลุ่มสาระ และรวมเอาวิชาฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา เข้ามาอยู่ในกลุ่มสาระวิทยาศาสตร์ทั้งหมด จึงทำให้เด็กมีพื้นฐานใน 3 วิชาดังกล่าวไม่แน่นพอ

ทั้งนี้ แม้จะยังมีการแยกสอนเป็น 3 วิชาแต่เนื้อหาไม่ต่อเนื่อง และไม่เข้มข้น ซึ่งที่ประชุมสภาคณบดีคณะวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย (ทวท.) ได้เคยพูดถึงเรื่องนี้หลายครั้ง แต่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ก็ยังนิ่งเฉย และเมื่อขอให้มีการปรับองค์ประกอบแอดมิชชันให้แยกสอบวิชาฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา เป็นวิชาละ 100 คะแนน ทปอ.ก็จะชี้แจงว่าไม่สามารถแยกได้ เนื่องจากหลักสูตรกำหนดให้เรียนรวมเป็นสาระวิชาวิทยาศาสตร์ 1 กลุ่มสาระเท่านั้น

“ทำไมวิชาคณิตศาสตร์จึงแยกสอบ 100 คะแนนได้ แต่วิชาฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา ซึ่งเป็นวิชาหลักและเป็นพื้นฐานของวิทยาศาสตร์ทุกแขนงกลับไม่แยกสอบ หากปล่อยให้ปัญหานี้ยังอยู่ต่อไป ก็จะส่งผลกระทบต่อการแข่งขันด้านวิทยาศาสตร์ในระดับนานาชาติ แม้ที่ผ่านมาเราจะได้รับเหรียญทองโอลิมปิกวิชาการด้านต่างๆ แต่เด็กที่ได้รับรางวัลเหล่านั้นล้วนผ่านการอบรมและมีอาจารย์มหาวิทยาลัยสอนวิชานั้นๆ ให้ตัวต่อตัว ขณะที่ภาพรวมเราไม่สามารถแข่งขันกับประเทศอื่นได้เลย” ศ.ดร.เกื้อ กล่าว

ศ.ดร.สุพจน์ หารหนองบัว คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า ในส่วนของคณะวิทยาศาสตร์ สัดส่วนการรับตรงและแอดมิชชันอยู่ที่ 50 :50 จากเดิม 30:70 นั้น ซึ่งความจริง คณะวิทยาศาสตร์อยากรับตรง 100 % แต่ต้องรอดูคะแนนสอบ GAT, PAT ก่อนว่าจะสามารถวัดความรู้ความสามารถเด็กได้จริงหรือไ ม่ อย่างไรก็ตามหลังจากที่เด็กสอบเข้าเรียนในคณะวิทยาศาสตร์ได้โดยผ่านระบบแอดมิชชัน คณะวิทยาศาสตร์จะจัดสอบ CU Science ให้กับนิสิตชั้นปี 1 ในเดือนมิถุนายน แล้วนำคะแนนจาก CU Science และแอดมิชชันมาเปรียบเทียบ ซึ่งหากคะแนน CU Science และแอดมิชชันกลางไม่แตกต่างกันมาก แสดงว่าการสอบแอดมิชชันกลางปี 2553 ที่ใช้คะแนน GAT, PAT เป็นระบบที่ได้คุณภาพในการคัดเลือกเด็ก แต่หากคะแนนออกมาแล้ว แตกต่างกันมากคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ อาจจะเปลี่ยนเป็นรับตรง 100 % ในปีถัดไปก็ได้ ซึ่ง ทปอ.คงต้องทบทวนปรับสัดส่วนองค์ประกอบที่ใช้ในการแอดมิชชันต่อไป

Tuesday, February 10, 2009

ขอเชิญเข้าร่วมประชุม ในวันอาทิตย์ที่ 15 กุมภาพันธ์ 2552 เวลา 9.30 น.มงฟอร์ต มัธยม

86 ถ.รัฐประชา ม.3 ต.เชิงดอย
อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่

วันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

เรื่อง ขอเชิญเข้าร่วมประชุม

เรียน กรรมการตัวแทนผู้ปกครองชั้น ม.4 มงฟอร์ต มัธยมทุกท่าน

ขอเชิญกรรมการตัวแทนผู้ปกครองชั้น ม.4 มงฟอร์ต มัธยม ทุกท่าน เข้าร่วมประชุมเพื่อปรึกษาหารือ ในวันอาทิตย์ที่ 15 กุมภาพันธ์ 2552 เวลา 9.30 น. ณ ห้องประชุมโสต 1 ตึกเซราฟิน โรงเรียน
มงฟอร์ตวิทยาลัย แผนกมัธยม
วาระการประชุมมีดังนี้
วาระที่ 1 เรื่องแจ้งให้ทราบ
วาระที่ 2 รับรองรายงานการประชุมครั้งที่แล้ว
วาระที่ 3 รายงานฐานะการเงิน
วาระที่ 4 เรื่องสืบเนื่อง
- สรุปผลการจัดงานคริสต์มาส
- สรุปผลการร่วมงานวันวิชาการและเปิดโลกงานอาชีพนักเรียน ม.4
- แจ้งรายชื่อนักเรียนค้างส่งการบ้าน ฉบับล่าสุด
วาระที่ 5 เรื่องพิจารณา
- แผนงานสนับสนุนนักเรียนในปีต่อไป ชั้น ม.5
วาระที่ 6 เรื่องอื่นๆ

จึงเรียนมาเพื่อทราบและขอเข้าร่วมประชุมโดยพร้องเพรียงกัน

ขอแสดงความนับถือ

นายชาตรี ชัยมงคล
ประธานคณะกรรมการตัวแทนผู้ปกครองชั้น ม.4


กรุณาแจ้งยืนยันการเข้าร่วมประชุม ที่โทร. 08-1882-0916
หรือทางโทรสารหมายเลข 0-5386-5731หรือทาง Email:chatree.chaimongkhol@gmail.com

Thursday, January 22, 2009

โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย จัดพิธีฉลองการเปิดลานอนุสาวรีย์ท่านนักบุญหลุยส์ ในวันศุกร์ที่ 30 มกราคม 2550

โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย จัดพิธีฉลองการเปิดลานอนุสาวรีย์ท่านนักบุญหลุยส์ ในวันศุกร์ที่ 30 มกราคม 2550

โดยมีกำหนดการดังนี้



ภาคเช้า
07.50-08.10 : นักเรียนทุกชั้นเข้าแถวรอบบริเวณลานอนุสาวรีย์ ฯ เคารพธงชาติ / สวดมนต์ไหว้พระ / ทำสมาธิ

************* : แขกรับเชิญอยู่พร้อม ณ บริเวณพิธี

************* : วงดุริยางค์แห่นำขบวนผู้เชิญกระเช้าดอกไม้สู่บริเวณพิธี

08.10-08.30 : พิธีเสก / วจนพิธีกรรม / เปิดป้ายแพร

08.30-10.00 : กล่าวสดุดีนักบุญหลุยส์

************* : วางกระเช้าดอกไม้ โดยภราดา ผู้แทนคณะครูและบุคลากร / ผู้แทนครูอาวุโส / /ผู้แทนนักเรียน / ผู้แทน

************** สมาคมศิษย์เก่า / สมาคมผู้ปกครอง ฯลฯ

10.00 : เริ่มเรียนตามปกติคาบที่ 3 เป็นต้นไป



ภาคค่ำ

18.00-18.15 : แขกรับเชิญ / /ครูและบุคลากรพร้อมกันที่บริเวณลานนักบุญ

************** : ชมการแสดงดนตรีผสมเครื่องสายตะวันตก

18.15-18.40 : ประธานในพิธีกล่าวเปิดงานฉลองอนุสาวรีย์นักบุญหลุยส์ เนื่องในโอกาสที่ท่านได้รับการสถาปนาเป็นนักบุญ

************ ** ครบรอบ 60 ปี

************** : พิธีมอบรถบรรทุก 6 ล้อ บริจาคโดยกองทุนโรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย

************** : มอบของที่ระลึกเพื่อแสดงความยินดีกับคุณภาณุพงศ์ ศักดาทร ที่ได้รับพระราชทานปริญญาดุษฎีบัณฑิต
************** กิตติมศักดิ์ สาขาบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

************** : มอบโล่ขอบคุณนายกสมามคมผู้ปกครองและครูฯ คุณไพรัช โตวิวัฒน์ ที่ครบวาระการดำรงตำแหน่ง

18.40-20.00 : ชมการแสดงดนตรีบรรเลงผสมเครื่องสายตะวันตก พร้อมรับประทานเลี้ยงค็อกเทล

************* : เพลงสรรเสริญพระบารมี